ผมได้มีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ULIBM กับมาตรฐานสากล การจัดเก็บ การค้นคืน การแลกเปลี่ยนและการเชื่อมโยงเครือข่าย ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 24-25 พ.ย. 53 โดยร่วมเดินทางไปกับทีมศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สำนักงานเลขานุการกรมอนามัย รวมทั้งหมด 4 คน ได้แก่ คุณพรพิมล (พี่พร) คุณพิกุล (กุล) คุณนพรัตน์ (นพ) และผม
ก่อนหน้านี้ ช่วงประมาณเดือน ส.ค. ผมได้พูดคุยกับพี่พรเกี่ยวกับการดำเนินงานในปี 54 ซึ่งพี่พรมีแนวคิดที่จะไปหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องโปรแกรมการจัดการห้องสมุดอัตโนมัติอย่างจริงจังมากขึ้น ภายหลังจากที่เคยเชิญอาจารย์สมพงษ์ เจริญศิริ จากสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาหใความรู้ที่กรมอนามัย ซึ่งท่านเป็นกูรูผู้ปลุกปั้นโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า ULIBM (Union Library Management) ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับระบบงานห้องสมุดทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ทั้งในและนอกประเทศ มาไม่น้อยกว่าสิบปี บวกกับความรู้ด้าน IT ทำให้ตกผลึกทางความคิด จนสามารถบูรณาการเป็นโปรแกรม ULIBM ที่ตอบสนองการทำงานของเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ฟังแผนของพี่พร ผมจึงเอ่ยปากอ้อนวอนขอร่วมเดินทางไปเรียนรู้ด้วย
หลายคนคงสงสัย แล้วนักประชาสัมพันธ์อย่างผมไปเกี่ยวอะไรกับโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ?????
เนื่องจากผมเคยพบกับ อ.สมพงษ์ มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนที่มาเป็นวิทยกรที่กรมอนามัยและได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับความสามารถของโปรแกรมที่ อ. ได้พัฒนาขึ้น มาสะกิดใจตรงที่เจ้า ULIBM มีโปรแกรมลูกข่ายที่ชื่อ UMEDIA ใช้สำหรับจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งไฟล์ภาพ เสียง วีดิโอ ซึ่งเป็นโปรแกรมเดียวกันกับที่พี่ฉัตรชัย กองแผนงานเคยแนะนำให้ลองหามาใช้ดู ผมมีความคิดที่จะพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของกลุ่มสื่อสารองค์กร สลก. ให้เป็นหมวดหมู่ สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่ยังหาโปรแกรมสร้างฐานข้อมูลดีๆ สักอัน ที่ตรงกับความต้องการไม่ได้ พอได้ยินกิติตศัพท์ของ UMEDIA เลยเกิดความสนใจ แต่วันนั้น ผมติดภารกิจ จึงไม่ได้เห็นหน้าตาและความสามารถของ UMEDIA ที่ อ. นำมาเปิดตัวเรียกน้ำย่อย จึงตั้งใจจะเดินทางไปพบ อ. เพื่อหาความรู้ และสอบถามข้อสงสัยในใจให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับการใช้งาน UMEDIA ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของการอบรมโปรแกรม ULIBM
การอบรม 2 วัน ที่ จ. มหาสารคาม ทำให้ผมได้รู้ว่าศาสตร์ของผู้ควบคุมห้องสมุด ช่างเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง และซับซ้อนกว่าที่เคยคิดเอาไว้มากมาย แค่หัวข้อ "การลงรายการทรัพยากร เพียงเรื่องเดียว ก็หมดเวลาไปแล้ว 1 วัน (เห็นบอกว่าถ้าอบรมกันจริงๆ ใช้เวลาเป็นเดือนๆ)
การอบรมในวันแรก อาจจะน่าปวดหัวสำหรับบรรณารักษ์สมัครเล่นอย่างผม เพราะเนื้อหาวิชาการค่อนข้างยาก แต่การได้พูดคุยกับเครือข่ายผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในสายงานห้องสมุด การมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัสนคติกับพี่พร และกุล ทั้งๆ ที่อยู่หน่วยงานเดียวกัน แต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาพูดคุยกันสักเท่าไหร่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ในสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียนรู้
ถ้าถามว่าได้ความรู้อะไรจากการอบรมในวันแรก ผมคงไม่สามารถตอบในเชิงเทคนิคลึกๆ ได้ ตอบได้แค่ความรู้กว้างๆ ในเชิงความหมายของคำซะมากกว่า เช่น รู้ความหมายของคำศัพท์ในวงการ ซึ่งทำให้รู้ถึงความแตกต่างว่าการแคทตาล็อค (Cataloging) คือการลงรายการบรรณานุกรมของทรัพยากรต่างๆ ในรูปแบบอนาล็อค ส่วนการมาร์ช (MARC) คือการลงรายการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้คอมพิเตอร์สามารถอ่านได้ หรือความรู้ในเรื่องระบบการลงรายการหนังสือตามชื่อเรื่อง (Bib) และจำนวน (Item) เป็นต้น
คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในเรื่องของ UMEDIA กับการอบรมในวันที่ 2 แล้วพบกันครับ
|